วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

" เส้นทางอาชีพของนักการเงิน"

สายการธนาคาร เป็นสายที่นักการเงินคุ้นเคยมากที่สุด และเป็นสายงานที่เก่าแก่ที่สุด สมัยที่ดิฉันอยู่ต่างจังหวัด ใครได้ทำงานธนาคารถือว่าโก้สุดๆ ได้สวมเสื้อเชิ้ตสีขาว ผูกเนกไท ได้นั่งทำงานในสถานที่ที่โอ่โถง ภูมิฐาน และไปพบลูกค้าลูกค้าก็จะต้อนรับทักทายปราศรัยด้วยเป็นอย่างดี สายนี้จะเน้นหน้าที่หลักคือปล่อยสินเชื่อ ซึ่งประกอบด้วยการวิเคราะห์เครดิต การวิเคราะห์ธุรกิจและโครงการ รวมถึงการจัดวงเงินสินเชื่อที่เหมาะสมกับธุรกิจของลูกค้า ผู้ทำหน้าที่นี้อาจเรียนจบเศรษฐศาสตร์แล้วมาฝึกฝนเรียนรู้ในงานก็ได้
การเงินของบริษัท คือผู้ที่ทำหน้าที่กระเป๋าเงินให้กับองค์กรธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่แสวงหาผลกำไร หรือไม่แสวงหาผลกำไร หน้าที่ก็มีตั้งแต่จัดหาเงินมาใช้ในการดำเนินกิจการ ซึ่งมีทางเลือกหลักๆ คือ ใช้ส่วนของทุน (Equity) ใช้เงินกู้ยืม (Debt) หรือใช้เครดิตทางการค้า (Supplier’s Credit) ส่วนที่ใช้ตราสารใหม่ๆ ก็จะแทรกอยู่ในหมวดหลักๆ เหล่านี้ทั้งนั้นค่ะ เช่น หุ้นกู้แปลงสภาพ ก็เป็นตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant) ก็เป็นอนุพันธ์ของตราสารทุน เป็นต้น
สายหลักทรัพย์และวาณิชธนกิจ ในยุคใดที่ตลาดหุ้นรุ่งเรือง ผู้ทำงานในสายนี้จะเป็นมนุษย์ทองคำกันเลยทีเดียว ได้โบนัสกันเป็นจำนวนเดือนที่เป็นเลขสองหลัก ทำให้สายนี้ดึงดูดผู้คนเข้ามาทำงานกันมากมายในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่ชีวิตมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ยามตลาดซบเซาก็ได้รับซองขาวให้จากไปเพื่อลดค่าใช้จ่ายของบริษัทเช่นกัน
สายจัดการลงทุน แต่เดิมการจัดการลงทุนเป็นหน่วยงานหนึ่งขององค์กรที่มีเงินเหลือ เช่น ธนาคารพาณิชย์ โดยธนาคารจะบริหารสภาพคล่องส่วนเกิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสายบริหารเงิน และในบางครั้งก็อาจมีการพิจารณาลงทุนในบริษัทต่างๆ บ้างเมื่อมีผู้เสนอให้ลงทุน นอกจากนี้ กลุ่มจัดการลงทุนนี้ ยังทำหน้าที่อยู่ในสถาบันต่างๆ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สำนักงานประกันสังคม บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันภัย มหาวิทยาลัย องค์กรเพื่อการกุศล และบริษัทหรือบุคคลต่างๆ ที่มีเงินให้บริหารจัดการ เพื่อหารายได้จากการลงทุน กลุ่มนี้จะเป็นการบริหารเงินลงทุนเพื่อองค์กร (Proprietary Investment)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น